WORLDMED CENTER Phi Phi

เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ

              สวัสดีคุณแม่ผู้รักสุขภาพทุกท่านครับกลับมาพบกับสาระสุขภาพดีๆสำหรับคุณแม่และลูกน้อยกับ Motherife tips กันอีกเช่นเคยครับวันนี้ Motherife จะชวนให้คุณพ่อคุณมามาลองสังเกตกันดูครับว่า เด็กๆนั้นเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรมเลียนแบบหรือยัง เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ เป็นเรื่องที่ควรได้รับการสังเกตและใส่ใจไม่แพ้พฤติกรรมด้านอื่นๆเลยครับ เพราะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับนิสัยและความคิดรวมถึงการใช้ชีวิตของเด็กเมื่อเค้าโตขึ้น หากไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ครับ

Play Video
เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ

พฤติกรรมการเลียนแบบเริ่มขึ้นเมื่อไหร่

เด็กในช่วงอายุ 2 – 6 ปี จะเรียนรู้การสร้างบุคลิกของตนโดยเริ่มจากการเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่  เพื่อนหรือคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออก วิธีการพูด และการกระทำโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือสิ่งใดไม่เหมาะสมเพราะเด็กยังขาดความสามารถในแยกแยะ

เข้าใจธรรมชาติของการเลียนแบบของเด็กๆ

           พฤติกรรมการเลียนแบบเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ โดยทำการเลียนแบบทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีปะปนกันเป็นไปตามสถานเหตุการณ์ที่เด็กพบเจอ ซึ่งเด็กในวัยตั้งแต่ 2 – 6 ปี นั้นมีความสามารถจดจำพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมไม่ดี ควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น พฤติกรรมบางอย่างหากเด็กพบเห็นเป็นประจำจะบ่มเพาะจนกลายเป็นนิสัย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขี้นมา

เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ
พฤติกรรมเลียนแบบที่น่ากังวล
เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ

พฤติกรรมก้าวร้าว :  พฤติกรรมนี้มักเลียนแบบมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรงทั้งการทะเลาะ หรือการดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อกัน หากเด็กเห็นจะเกิดการซึมซับและมองว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้

 พฤติกรรมการสนใจสื่อที่มีความรุนแรง :  เมื่อเด็กมีอายุน้อย และเข้าถึงสื่อออนไลน์เร็วเกินไป โดยผู้ปกครองต้องการเพียงให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่ได้นึกถึงผลที่ตามมา ทำให้เด็กรับสื่อที่มีความรุนแรงมากเกินไปและแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ รวมถึงความใจร้อนไม่สามารถรอคอยเวลาได้

พฤติกรรมการลักขโมย : เด็กเลียนแบบผู้ปกครองหรือคนในบ้านที่หยิบสิ่งของผู้อื่นมาใช้แล้วไม่คืน การกระทำเช่นนี้มีผลให้เด็กมองว่าเป็นเรื่องปกติด้วยเช่นกัน

พฤติกรรมการโกหก : เกิดจากการล้อเลียนหรือหยอกล้อ แกล้งคนรอบตัวไม่ใช่แค่คนในครอบครัวแต่รวมถึงสังคมเพื่อนด้วย หากไม่มีการอธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมถึงโกหก เด็กจะเข้าใจว่าการพูดโกหกไม่ใช่สิ่งที่ผิด และอาจติดเป็นนิสัยได้

 พฤติกรรมการใช้สิ่งเสพติด : หากเด็กได้เห็นพฤติกรรมของคนรอบข้างที่ใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถส่งต่อพฤติกรรมมาสู่เด็กได้ทำให้เด็กเลียนแบบและส่งผลเสียทำให้ติดสารเสพติดในเวลาต่อมา

การรับมือพฤติกรรมการเลียนแบบ

          การสั่งสอนอย่างมีคุณภาพจะส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเขาตั้งแต่เด็กครับ เช่น แสดงความรักต่อกันให้เด็กเห็น เมื่อเด็กทำตามเป็นประจำจนเป็นนิสัย เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะแสดงความรักต่อคนรอบข้างโดยเป็นการแสดงออกมาแบบธรรมชาติ หรือการเคารพความคิดเห็นต่างของผู้คนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กทราบว่าถึงแม้เราจะมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเราต่างเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกันก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ เมื่อในครอบครัวเคารพและรับฟังความคิดเห็นกัน พฤติกรรมจะถูกปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ว่าทุก ๆ สังคมจะมีความเห็นต่างอยู่เสมอ สำคัญอยู่ที่ต้องเรียนรู้ เข้าใจ ยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล

แนวทางการรับมือพฤติกรรมการเลียนแบบในแบบต่างๆ
  1. ลูกพูดหรือจำคำหยาบมาใช้

คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกใจ เมื่อจู่ๆ ลูกวัยอนุบาลเผลอพูดคำสบถ หรือคำหยาบออกมา ไม่ว่าจะรู้ความหมายหรือไม่ก็ตาม

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: อธิบายว่าทำไมลูกถึงไม่ควรใช้คำพูดเหล่านั้น

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ยินว่าลูกพูดคำหยาบ ไม่จำเป็นต้องดุหรือทำให้ลูกตกใจ แต่ให้ย่อตัวลงในระดับสายตาของลูก อธิบายว่าทำไมลูกถึงไม่ควรใช้คำพูดเหล่านั้น และหากเป็นคำที่ลูกเคยได้ยินจากคุณพ่อคุณแม่ ก็อย่าลืมยอมรับผิด และบอกลูกว่าคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถแสดงตัวอย่างที่ดีได้ด้วยการกล่าวขอโทษ และบอกว่าจะพยายามแก้ไขและปรับปรุงตัวเองเช่นกัน

  1. ลูกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องกรี๊ดเมื่อไม่พอใจ กระทืบเท้า ต่อยกำแพง หรือตะโกนเสียงดังๆ เพื่อแสดงความโกรธ หรือใช้สีหน้าล้อเลียนและยั่วยุ

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: ปรับความเข้าใจและสอนให้ลูกสะท้อนความคิด

หากพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก มาจากคุณพ่อคุณแม่โดยตรง ขอให้คุณพ่อคุณแม่มีสติในการแสดงออกต่อหน้าลูกมากขึ้น และสัญญากับลูกว่าครอบครัวเราจะไม่มีใครทำเช่นนั้นอีก

อีกวิธีหนึ่ง คือ สอนลูกสะท้อนความคิด ด้วยการเปลี่ยนคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ เช่น เมื่อโกรธ แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะตะคอกใส่ลูกว่า จะบ้าตายอยู่แล้ว! ให้ตั้งสติแล้วสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมาด้วยคำพูดที่นุ่มนวล เช่น ตอนนี้แม่รู้สึกหงุดหงิดมากแล้ว อาจจะต้องขอเวลาไปอยู่คนเดียวก่อน เพื่อแนะนำและเป็นตัวอย่างให้ลูกพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา แทนการแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนั่นเองครับ

  1. ลูกเลียนแบบในลักษณะโตเกินวัย

พฤติกรรมเลียนแบบบุคคลรอบข้างที่ไม่สมวัยเช่น การทาลิปสติก การใส่ส้นสูง การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากห้ามไม่ให้ลูกเลียนแบบคนอื่น เพราะบางพฤติกรรมก็สามารถค่อยหายไปได้ตามธรรมชาติ แต่ควรควรชวนลูกพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกอยากเดินตามรอยรุ่นพี่คนนั้น รวมถึง พูดให้ลูกมั่นใจว่า คนเราสามารถชอบอะไรเหมือนกันได้ แต่ก็อย่าลืมว่าอาจจะมีอาจจะมีสิ่งที่ลูกอยากทำในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน และเมื่อลูกพร้อมที่จะเลือกทำสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมที่จะสนับสนุนลูกด้วยความเต็มใจ

  1. พฤติกรรมการเลียนแบบศิลปินคนดังต่างๆ

อาจแสดงให้เห็นถึงความสนใจในตัวเด็กเอง ในเรื่องของพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ ที่อาจส่งผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่มักเป็นกังวลเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนดังเหล่านั้น ป้องกันและแก้ไขได้โดยการพยายามชี้แจงเด็กทีละน้อยให้เด็กซึมซับมากที่สุด และรู้จักแยกแยะพฤติกรรมด้านบวกด้านลบในอนาคต

เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ

          สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องพยายามใกล้ชิดเด็กให้มากๆ ทุกช่วงวัย โดยในแต่ละช่วงวัยก็จะมีการแสดงออกถึงความใกล้ชิดที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นเด็กเล็กที่ต้องการความรักความอบอุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ในส่วนนี้มากๆ แต่ถ้าหากเด็กเริ่มโต เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ในระดับหนึ่ง การแสดงออกถึงความใกล้ชิดก็จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยแทนเป็นโอกาสที่ดีที่จะพูดคุยรับฟังปัญหาและให้คำปรึกากับเค้าและสั่งสอนไปในตัว โดยควรรับฟังเด็กๆด้วยความจริงใจ ไม่ควรกังวลมากเกินไปจนเผลอซักไซร้หรือควบคุมเด็กมากนักจนเด็กรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ในเรื่องต่างๆ จนนำไปส่ความไม่ไว้วางใจผู้ปกครองจนเป็นปัญหาสัมพันธภาพขึ้นมาครับ

 ติดตามสาระใน EP.ถัดไปได้ที่ช่องทางนี้ หรือ www.worldmedsolution.com

บทความ : เมื่อลูกเริ่มเลียนแบบ

หน้าหลัก
กลับสู่หน้าหลักบทความ
Facebook Comments