WORLDMED CENTER Phi Phi

ผักสดหรือผักสุกดีกว่ากัน?

              ผักสดหรือผักสุกดีกว่ากัน? สวัสดีท่านผู้รักสุขภาพทุกท่านครับ พบกับสาระสุขภาพดีๆกับ Admin Worldmed กันอีกเช่นเคยครับ ในที่นี้มีท่านใดชอบทานผักเป็นชีวิตจิตใจบ้างครับ แล้วชอบทานผักสดหรือผักสุกกันครับ? พอขยายความจากข้อคำถามนี้ จึงเกิดคำถามสุดคลาสสิคในกลุ่มผู้บริโภคว่า ระหว่างผักสดที่พร้อมทานได้เลยหรือผัดสุกที่ต้องผ่านกระบวนการปรุงด้วยความร้อนนั้น ผักแบบใดให้คุณประโยชน์มากกว่ากัน วันนี้ไขคำตอบประเด็นนี้ไปพร้อมกันครับ

คุณอยู่ทีมไหน ? ระหว่าง ทีมผักสด VS ทีมผักสุก

ทีมผักสด

ข้อดี : มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผักบางชนิดรับประทานสดจะมีสรรพคุณต้านโรค การรับประทานแบบสดๆ จะได้รับสรรพคุณเต็มที่

ข้อเสีย : หากรับประทานมากไปอาจทำให้ท้องอืด
ผักบางประเภทรับประทานสดอาจได้รับสารพิษบางอย่าง เช่น มันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาไนด์ ไม่ ปรุงสุกอาจคลื่นไส้ได้

หากล้างไม่สะอาด สารเคมีระหว่างการปลูกมีอันตรายต่อสุขภาพ

พืชผักใดบ้างที่อยู่ทีมผักสด 
หัวหอมใหญ่  : หัวหอมใหญ่ควรเลือกทานแบบดิบ เพราะหากทานแบบสุกสารอาหารในหัวหอม เช่น เอนไซม์ วิตามินบีและซี อาจถูกทำลายลงได้เมื่อโดนความร้อน การทานหัวหอมด้วยวิธีการหั่นและสไลด์บางจะได้รับสารอัลลิซิน ที่ช่วยป้องกันการอักเสบและช่วยลดระดับความดันโลหิตสูงได้มากกว่าการทานแบบสุก นอกจากนี้ยังมีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทาน และเสริมสร้างโครงสร้างผิวหนังให้แข็งแรงอีกด้วย ส่วนท่านใดไม่คุ้นชินกับการทานหัวหอมแบบดิบ ก็สามารถเลือกทานแบบที่ผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อยได้เช่นกัน

พริก : พริกต่างๆ นั้น เราควรจะทานแบบดิบ เนื่องจากพริกอุดมไปด้วยสารอาหารประเภทวิตามินซีสูง หากนำไปโดนความร้อนจะทำให้วิตามินซีเสื่อมสลายไปได้ง่าย เทียบปริมาณวิตามินซีในพริก 100 กรัม พริกหวานดิบ จะมีวิตามินซี 70 มิลลิกรัม พริกหยวก จะมีวิตามินซี 50 มิลลิกรัม พริกขี้หนูดิบ จะมีวิจามันซี 40 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีจะมีประโยชน์ในการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างคอลลาเจนที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างผิวหนังให้ดูยืดหยุ่น และสดใสมากขึ้น

บรอกโคลี : ผักยอดนิยมอย่างบรอกโคลีนั้นมีวิตามินซีสูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารซัลโฟราเฟนที่ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็ง แต่การเอาบรอกโคลีไปผ่านความร้อนนานๆ จะทำให้คุณค่าตรงนี้หายไปได้ จึงมีการแนะนำให้ทานบรอกโคลีแบบสดๆ หรือจะเอามาจี่หรือลวกผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างที่เราชอบทานจะเป็นผัดบรอกโคลีใส่กุ้ง โดยจะไม่เอาผักไปลวกก่อน หั่นบรอกโคลีเป็นชิ้นพอดีคำแล้วนำลงไปผัดให้พอร้อนก็เสิร์ฟได้ หรือจะเอาบรอกโคลีสดมาปั่นรวมกับแอปเปิลและสับปะรดก็จะกลายเป็นน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพที่ดื่มง่ายมากขึ้นอีกด้วยครับ

กระเทียม  : กระเทียมที่เราคุ้นเคยกันดี ด้วยรสชาติเผ็ดร้อนกับกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ กระเทียมนั้นมีประโยชน์หลายอย่างมากทั้งช่วยลดความดันโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ บรรเทาอาการปวดตามข้อและกระดูก ซึ่งการเอากระเทียมไปปรุงผ่านความร้อนจะทำให้เสียคุณค่าเหล่านี้ไป ยกตัวอย่างเมนูกระเทียมสด เช่น หมูมะนาวใส่กระเทียมเยอะๆ หรือทานกระเทียมคู่กับข้าวขาหมูก็ดีไม่น้อยเช่นกัน

ทีมผักสุก

ข้อดี : ช่วยลดพิษตามธรรมชาติของผักบางชนิด ลดปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อได้ ผักบางชนิดเมื่อโดนความร้อนคุณค่าทางอาหารจะเพิ่มขึ้น เช่น แครอท
ข้อเสีย : วิตามินและแร่ธาตุอาจสูญเสียไปจากการปรุงให้สุก เมื่อผ่านการปรุงแบบปิ้งย่าง มักมีสารก่อมะเร็งตามมาด้วย

สรุปแล้วการรับประทานผักสุก หรือผักสดให้ได้คุณค่านั้น ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของผักแต่ละชนิด

พืชผักใดบ้างที่อยู่ทีมผักสุก
แครอท : แครอทเป็นผักที่มีเบตาแคโรทีนสูงมากในลำดับต้นๆ ของผักประเภทสีส้ม สีเหลือง การที่จะทำให้เราได้รับประโยชน์จากเบต้าแคโรทีน อย่างเต็มที่ จึงควรรับประทานแครอทในรูปแบบ สุก โดยนำไปผ่านความร้อน ความร้อนจะส่งผลให้ผนังเซลล์ของแครอท ทำให้ ดูดซึมของร่างกายเป็นไปได้ดีมากขึ้น โดยแคร์รอตสุกจะมีเบต้าแคโรทีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ซึ่งเบต้าแคโรทีน จะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากการอักเสบในร่างกายได้

ถั่วงอก  : ถั่วงอกแบบสุกจะดีต่อร่างกายมากกว่า การทานถั่วงอกดิบ เพราะด้วยความดิบของถั่วงอกอาจเข้าไปขัดขวางกระบวนการดูดซึมของสารอาหารบางชนิดได้ นอกจากนี้ในถั่วงอกดิบอาจมีเชื้อจุลินทรีย์หรือสารฟอกขาวปนเปื้อน เมื่อทานเข้าไปอาจมีอาการ ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง เป็นต้น

เห็ดชนิดต่าง ๆ  : เห็ดหลายชนิดมีแคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ ปราศจากคอเลสเตอรอล ช่วยลดความดัน และยังมีสารซีลีเนียมที่เป็นสารต้านมะเร็ง อุดมไปด้วยวิตามินบี มีวิตามินซีสูงมาก ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เพื่อเสริมกระดูกและฟัน การทานเห็ด มีข้อแนะนำให้ใช้ความร้อนไม่สูงและใช้เวลาไม่นาน จะทำให้เห็ดยังคงคุณค่าของสารอาหารมากกว่าเห็ดที่ปรุงสุกมากๆหรือผ่านความร้อนเป็นเวลานาน และไม่แนะนำให้ทานเห็ดแบบดิบ เพราะในเห็ดมีสารบางอย่างที่ยับยั้งการดูดซึมของอาหารในระบบย่อยอาหารได้ และเห็ดสดบางชนิดมีสารก่อมะเร็ง ดังนั้นการปรุงเห็ดให้ผ่านความร้อนเล็กน้อยจะช่วยลดพิษลงได้

มะเขือเทศ : หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดถึงควรทานมะเขือเทศแบบสุก ทั้ง ๆ ที่ในยำ สลัด หรือเมนูใด ๆ ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบดิบก็ตาม นั่นก็เพราะว่าในมะเขือเทศมีไลโคปีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ จึงแนะนำให้ทานมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะทำให้การยึดจับของไลโคปีนกับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศอ่อนตัวลง ส่งผลให้ไลโคปีนถูกร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่าการทานแบบดิบ ด้วยเหตุนี้การบริโภคมะเขือเทศแบบปรุงสุกจะทำให้สรรพคุณในการต้านมะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผักตระกูลกะหล่ำ  : ผักตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ฯลฯ แม้จะสามารถทานได้ทั้งแบบสุกและดิบ หากแต่ถ้าทานแบบดิบ อาจส่งผลให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะผู้มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารควรหลีกเลี่ยงการทานผักตระกูลกะหล่ำแบบดิบ โดยผักตระกูลกะหล่ำที่ปรุงสุกจะได้รับประโยชน์มาก จากใยอาหารที่มีอยู่สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบช่วยป้องกันเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ ส่วนใครที่มีปัญหาการทำงานของต่อมไทรอยด์บกพร่อง ควรหลีกเลี่ยงผักตระกูลกะหล่ำ เนื่องจากมีสารที่ยับยั้งการดูดซึมไอโอดีนทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตโฮร์โมนได้น้อยลง

โภชนาการนั้นเป็นสิ่งสำคัญและอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราทาน การเลือกทานอย่างถูกต้องจะช่วยให้ได้รับโภชนาการอย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน ที่สำคัญคือ สุขอนามัย ควรล้างพืชผักไว้ในน้ำเกลือหรือน้ำด่างทับทิมประมาณ 5 -10 นาที หรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน เพื่อกำจัดเอาเศษสกปรก แมลงหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ออกให้หมด ก่อนการนำมารับประทานครับ

ติดตามสาระใน EP.ถัดไปได้ที่ช่องทางนี้ หรือ www.worldmedsolution.com

บทความ : ผักสดหรือผักสุกดีกว่ากัน?

หน้าหลัก
กลับสู่หน้าหลักบทความ
Facebook Comments