WORLDMED CENTER Phi Phi

สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์ ที่ไม่ควรมองข้าม

                    สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์ ที่ไม่ควรมองข้าม โรคอัลไซเมอร์ พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เกิดจากเซลล์ในสมองตายหรือไม่ทำงาน โดยโรคนี้ไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ ทำให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้ไม่เต็มที่ และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะเกิดภาวะสมองเสื่อมรุนแรงขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้

สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์ ที่ไม่ควรมองข้าม

อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์แบ่งได้เป็นสามระยะ คือ

ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้

ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ คิดว่าคู่สมรสนอกใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ยากต่อการดูแลและเข้าสังคม

ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี

10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์

  1. มีการหลงลืมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลืมในสิ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาเร็วๆ นี้ ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องอาศัยสิ่งช่วยจำ เช่น สมุดจด หรือ บุคคลในครอบครัว คอยช่วยเหลือ
  2. เสียความสามารถในการวางแผนหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ เป็นขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง เช่น ลืมขั้นตอนจ่ายเงินเมื่อไปธนาคาร หรือขับรถ
  3. รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเวลาพักร้อน เช่น ขับรถไปในสถานที่ที่ไปประจำ จำกฎกติกาของกีฬาที่เล่นประจำไม่ได้
  4. รู้สึกสับสนกับเวลาหรือสถานที่ในขณะหนึ่งๆ เช่น ไม่รู้วันที่ ฤดูกาล และเวลา ลืมสถานที่ที่ตัวเองอยู่หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆอย่างไร
  5. รู้สึกลำบากที่จะเข้าใจในภาพที่เห็นและความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่เห็นกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือเข้าใจลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น วางของบนโต๊ะแต่มักปล่อยลงก่อนถึงโต๊ะ บอกสีต่างๆ ยากขึ้น
  6. รู้สึกมีปัญหาในการค้นหาหรือใช้คำที่เหมาะสมในการพูดหรือเขียน เช่น มักจะหยุดระหว่างกำลังสนทนาและไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรต่อ หรืออาจพูดคำ ประโยคซ้ำๆ
  7. ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรวางหรือเก็บไว้และไม่สามารถย้อนนึกกลับไปได้ว่าวางไว้ที่ใด เช่น เก็บโทรศัพท์ไว้ในตู้เย็น
  8. ความสามารถในการตัดสินใจลดลงหรือสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเอง ไม่ทำผม ไม่อาบน้ำ เมื่อจะไปงานสำคัญ
  9. มีการแยกตัวออกจากงานที่ทำหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ปกติจะไปเล่นกีฬา พบปะเพื่อนทุกสัปดาห์ แต่วันหนึ่งกลับไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลใดๆ
  10. รู้สึกว่าอารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดูสับสน วิตกกังวล หวาดกลัว

หลายท่านถาม เมื่อไหร่จึงต้องพบแพทย์ ?

                 เมื่อปัญหาด้านความจำที่เกิดขึ้นหรืออาการหลงลืมนั้น ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดการชีวิตประจำวัน เช่น ทำได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้น หรืออาการหลงลืมนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น ต้องการผู้ช่วยเหลือในการจ่ายเงิน ต้องการผู้ช่วยเหลือในการบริหารยาที่ทานประจำ เป็นต้น

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การป้องกันโรคจึงเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง

  2. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน

  3. ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่

  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  5. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม

  6. ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ

 ติดตามสาระใน EP.ถัดไปได้ที่ช่องทางนี้ หรือ www.worldmedsolution.com

บทความ : สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์ ที่ไม่ควรมองข้าม

หน้าหลัก
กลับสู่หน้าหลักบทความ
Facebook Comments