WORLDMED CENTER Phi Phi

โรคที่มักติดจากโรงเรียน

                    โรคที่มักติดจากโรงเรียน สวัสดีท่านผู้รักสุขภาพทุกท่านครับ พบกับสาระสุขภาพดีๆกับ Admin Worldmed กันอีกเช่นเคยครับ ช่วงเปิดเทอมหรือเปิดภาคเรียนแบบนี้คุณพ่อคุณแม่อาจกำลังเป็นห่วงสุขภาพของลูกๆอยู่ใช่หรือไม่ครับ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว เรื่องของสุขภาพก็มีอยู่บ้างที่ลูกๆอาจจะป่วยจากการตากฝน เล่นสนุกท่ามกลางแดดร้อนๆ หรือติดหวัดมาจากเพื่อนและบุคคลอื่นๆ แต่ก็มีบางสถานการณ์ที่ต้องรับมือและสังเกตอาการ เพราะอาการของโรคจะเป็นสัณญาณบอกโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาครับ

โรคที่มักติดจากโรงเรียน

นี่คือ 6 กลุ่มโรคที่มักจะติดมาจากโรงเรียน

1.โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรียไมโครพลาสม่า (Mycoplasma)
         ไมโครพลาสม่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการไอ  เจ็บคอ  หลอดลมอักเสบ และปอดบวม ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากที่ชุมชนมีผู้คนจำนวนมากอย่างโรงเรียน หรือ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
       โดยหลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรพาลูกมาพบแพทย์หากมีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ไอรุนแรง หายใจเร็ว หายใจมีหน้าอกบุ๋ม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีผื่นแดงตามผิวหนัง โดยโรคติดเชื้อไมโครพลาสม่ารักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline
2.covid 19
  ยังคงประมาทไม่ได้สำหรับ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ SARS-CoV-2 ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ผ่านการติดต่อกันระหว่างคนผ่านทางละอองที่แพร่กระจายจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อปนเปื้อน
       อาการของโรค COVID-19 ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยไข้ อาการไอ หายใจลำบาก คัดจมูก  ครั่นเนื้อครั่นใจ เบื่ออาหาร และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดบวม วิกฤตต่อเนื่องของระบบไต หรือภาวะติดเชื้อระบบประสาทส่วนกลางและอย่างอาการสำคัญของสายพันธุ์ XBB.1.16 (สายพันธุ์ที่ระบาดช่วงปลายปี 2022 ถึง ต้นปี 2023 อาการที่พบส่วนใหญ่ ได้จะแก่ มีไข้สูง หวัดคัดจมูก ไอ ผื่นคัน ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย จมูกไม่ได้กลิ่น อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย เยื่อบุตาอักเสบ คล้ายตาแดง คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น
       สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 รวมถึงการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของไวรัส มีการแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ สวมหน้ากากอนามัย  เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และหลีกเลี่ยงการไปที่พื้นที่คับคั่งหรือมีคนมาก เช่น สถานที่ที่ไม่จำเป็น หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนมาก

และในปี 2024 อาจเป็นสายพันธุ์ โอมิครอน JN.1

โรคที่มักติดจากโรงเรียน
3. โรคมือ เท้า ปาก (Hand, foot and mouth disease)
       โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พ่อแม่จะต้องระวังให้มาก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและในโรงเรียน และอาการของโรคมือ เท้า ปากก็คล้ายกับโรคหวัดจนพ่อแม่ไม่ทันสังเกตถึงความรุนแรง จนบางครั้งกว่าจะรู้และรักษาให้หาย ที่สำคัญอันตรายถึงชีวิต
     อาการโรคมือ เท้า ปาก ระยะแรกนั้นจะเริ่มจากเป็นไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ (คล้าย เป็นหวัด) อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย  ต่อมาเป็นผื่นและตุ่มน้ำใสที่บริเวณปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางครั้งอาจจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณก้นด้วย ลักษณะสำคัญเฉพาะโรคนี้คือ ตุ่มน้ำใสที่ขึ้นในปากจะมีขนาดเล็กและแตกเป็นแผลตื้นๆ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม ทำให้ลูกกินอาหารได้ลดลง  และน้ำลายไหลมากผิดปกติ  ส่วนตุ่มใสที่มือและเท้าจะไม่แตกเหมือนตุ่มในปาก ถ้าลูกมีไข้โดยไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร และหากเฝ้าดูอาการแล้วพบว่ามีตุ่มขึ้นก็อาจจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคและพบแพทย์
4. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

         ไข้หวัดใหญ่  เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อาการป่วยจะเริ่มปรากฎหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดาเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตได้ และเด็กที่ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน โดยติดต่อทางการหายใจ จากเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม  หรือพูด รวมถึงการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย

5. โรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina)
โรคที่มักติดจากโรงเรียน
      โรคเฮอร์แปงไจน่า มักระบาดในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในเด็กอายุ 2 ถึง 10 ปี เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาล  มักเล่นของเล่นรวมกัน  หยิบจับสิ่งของรวมกัน  จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยตัวเชื้อจะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ทุกฤดู โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่อาจจะมีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา (ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2 – 4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
แต่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเจอได้จากโรคนี้ ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ เมื่ออาการไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือไข้สูง, รับประทานอาหารและดื่มนมไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง หรือมีอาการซึมลง
6. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)

        โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV นับเป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดในเด็กในช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ อาการจะปรากฏหลังจากสัมผัสกับเชื้อโรคประมาณ 4-6 วัน ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและหลอดลมขนาดใหญ่ อาการจะคล้ายกับเป็นหวัดทั่วไป เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดหัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 -2 สัปดาห์ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ไวรัส RSV หากลูกมีอาการน่าสงสัย ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะมีการเก็บเสมหะจากจมูกไปทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV การรักษาจะรักษาตามอาการเช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ พ่นยาเคาะปอด ดูดเสมหะ การแพร่กระจายของไวรัส RSV คล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่น คือผ่านการจามหรือไอที่ก่อให้เกิดละอองเสมหะในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง และผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เช่น เด็กสัมผัสสิ่งของหรือของเล่นที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ แล้วมาจับปาก จมูก หรือตาของตัวเอง จึงมักติดต่อกันง่ายในโรงเรียนครับ

โรคที่มักติดจากโรงเรียน

ติดตามสาระใน EP.ถัดไปได้ที่ช่องทางนี้ หรือ www.worldmedsolution.com

บทความ : โรคที่มักติดจากโรงเรียน

หน้าหลัก
กลับสู่หน้าหลักบทความ
Facebook Comments