5กลุ่มโรค มากับฤดูฝน
5กลุ่มโรค มากับฤดูฝน สวัสดีท่านผู้รักสุขภาพทุกท่านครับ พบกับ Admin Worldmed กับสาระสุขภาพดีๆอีกเช่นเคย คาดว่าในพื้นที่ของหลายๆท่านเริ่มมีฝนตกกันบ้างแล้วใช่หรือไม่ครับ หน้าฝนนำพาความชุ่มชื่นและเป็นตัวแปรสำคัญกับระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ ทำให้รู้สึกเย็นสบายเมื่อได้พักผ่อนหย่อนใจยามฝนตก แต่ก็มีบางปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังครับ เพราะ เชื้อโรคอยู่รอบตัวเราและมากับฝนเสียด้วยครับ จะมีกลุ่มโรคใดบ้าง รับมืออย่างไร ติดตามไปพร้อมกันครับ
กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร
โรคที่พบบ่อย : โรคท้องเดิน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น โดยสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ อันก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้
วิธีป้องกัน : ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง
โรคที่พบบ่อย : โรคแลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) โรคตาแดง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง การสัมผัสสิ่งปฏิกูลจากการระบายของอุตสาหกรรม และปศุสัตว์ สามารถสังเกตอาการ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง รวมถึงอาการตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด หากเป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง จนกระทั่งตับวาย ไตวายได้
วิธีป้องกัน : หมั่นล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัสต่างๆจากสิ่งแวดล้อม รักษาสุขลักษณะของที่พักอาศัยไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของหนู
กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
โรคที่พบบ่อย : โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และปอดบวม เนื่องจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศชื้นช่วงฤดูฝนจะเป็นพาหะของโรคระบบทางเดินหายใจ การแพร่กระจายของเชื้อโรคก็ยังง่ายมาก เพียงแค่ไอ จาม หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อก็ป่วยตามกันได้แล้ว
วิธีป้องกัน : ดูแลตัวเองด้วยการหาผ้าปิดจมูกมาสวมใส่ เมื่อต้องอยู่ในที่แออัด หรือเมื่อมีอาการป่วยก็ควรต้องสวมหน้ากากเพื่อหยุดการกระจายของเชื้อโรคด้วย ที่สำคัญควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าด้วยมือ ปัจจุบันมีวัคซีน ใช้สำหรับฉีดป้องกันเชื้อไข้หวัดบางชนิดได้ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีอีกระดับหนึ่งครับ
กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
โรคที่พบบ่อย : โรคไข้เลือดออก(ยุงลายเป็นพาหะ) โรคไข้สมองอักเสบ เจอี (ยุงรำคาญเป็นพาหะ) โรคมาลาเรีย(ยุงก้นปล่องเป็นพาหะ) โรคเหล่านี้มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ก่อนจะมีอาการซึมหรือชัก เคสของมาลาเรียอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ หรือบางเคสอาจมีภาวะมาลาเรียขึ้นสมองได้
วิธีป้องกัน : กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้ได้เป็นวงกว้างที่สุด โดยเฉพาะในจุดที่มีน้ำท่วมขัง พยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีต้นไม้ และป้องกันผิวด้วยยาทากันยุง
กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ สาเหตุเกิดจากสภาพอากาศที่เย็นและชื้น ไวรัสที่เจริญเติบโตได้ในลำไส้ เช่น คอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสตัวการที่ทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก จะมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วมากเป็นพิเศษ ทำให้เด็กเล็กที่ได้รับเชื้อไวรัสเหล่านี้จากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มแผลพุพอง หรืออุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ ป่วยได้ง่าย
วิธีป้องกัน : ฉะนั้นควรป้องกันการเกิดโรคโดยการรักษาสุขอนามัยของเด็กและผู้ดูแลเด็กให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น รวมทั้งหมั่นล้างมือบ่อยๆครับ
ติดตามสาระใน EP.ถัดไปได้ที่ช่องทางนี้ หรือ www.worldmedsolution.com
บทความ : 5กลุ่มโรค มากับฤดูฝน