WORLDMED CENTER Phi Phi

โรคผิวหนังมากับหน้าฝน

        โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน สวัสดีท่านผู้รักสุขภาพทุกท่านครับ พบกับสาระสุขภาพดีๆกับ Admin Worldmed กันอีกเช่นเคยครับ ฝนตกหนักในหลายๆพื้นที่ นอกจากเหล่าสัตว์มีพิษและโรคที่มากับหน้าฝนแล้ว สิ่งที่สร้างความกังวลใจแก่หลายๆท่านก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของโรคผิวหนัง เพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวด ระคายเคืองแล้ว ยังส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วยวันนี้เราจะไปทำความรู้จักและวิธีป้องกันโรคผิวหนังที่มากับหน้าฝนกันครับ

  โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน

โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน มีโรคอะไรบ้าง

1.กลาก
  โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน
       กลากเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดงต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า

การรักษา : มียาหลายชนิดเพื่อใช้รักษากลาก เช่น อีโคนาโซล , ไมโคนาโซล , โคลไทรมาโซล(ซีม่าที่เรารู้จักกันจะเป็นตัวนี้) , ไอโซโคนาโซล , คีโตโคนาโซล , ออกซิโคนาโซล , ไบโฟนาโซล , ซัลโคนาโซล , ลาโนโคนาโซล , ลูลิโคนาโซล, โอโมโคนาโซล, เซอร์ทาโคนาโซล อะโมรอลฟีน ,บิวเทนาฟีน ,เทอร์บินาฟีน, แนฟทิฟีน
2.เกลื้อน : 

      เกลื้อนเกิดจากเชื้อราชื่อ Pityrosporum ที่อาศัยอยู่เป็นปกติในรูขุมขนของทุกคน ลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ

การรักษา : ยาน้ำทา เช่น 20% โซเนียมทัยโอซัลเฟต เหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นมากๆ ยาฆ่าเชื้อราชนิดครีม ยากลุ่มนี้ได้แก่ Clotrimazole ครีมเหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นบริเวณไม่กว้างมาก
3.โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง
  โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน

        โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง เช่น ยุง หมัด ไร แมลงก้นกระดก หากสัมผัสเข้าอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ อย่างพิษของแมลงก้นกระดก เรียกว่า เพเดอริน ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นคันหรือแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ และถ้าถูกพิษบริเวณดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้! หากมีอาการแพ้รุนแรงควรรีบพบแพทย์

การรักษา : ทำความสะอาดผื่นที่ถูกกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน (ถ้าคัน) ถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น เป็นหนอง อาจจำเป้นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย (กรณีนี้แนะนำให้ไปพบแพทย์นะครับ)
4.โรคเท้าเหม็น

            โรคเท้าเหม็น เป็นโรคของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอก ทำให้เท้าลอกและมีกลิ่นเหม็น เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า

การรักษา : ยาฆ่าเชื้อ/ ยาปฏิชีวนะ ชนิดทา เช่น ยา Clindamycin ยา Erythromycin หรือ ยาทาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกตัวเพื่อสร้างผิวหนังขึ้นใหม่และมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เช่น ยา Benzoyl peroxide หรือ ยาที่เป็นแป้งผงฆ่าเชื้อ โดยทายา เช้า-เย็น จน กว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการหลีกเลี่ยงภาวะอับชื้นของเท้าด้วย
5.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 
  โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน

             โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนังอย่างเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ สาเหตุอาจมาจากพันธุกรรม ภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อม อาการจะมีผื่นแดง แห้งลอก คัน โดยมีอาการคันมากที่บริเวณตามข้อพับแขน  ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา ซอกคอ เนื่องมาจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

การรักษา : การรักษาขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค ยาที่ได้ผลเร็วคือยาสเตียรอยด์ เมื่อผื่นหายแล้วต้องหยุดยา ไม่ควรซื้อยาสเตียรอยด์มาทานเอง เพราะจะมีผลข้างเคียงในระยะยาว อย่างไรก็ตามควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
6.โรคน้ำกัดเท้า  
         โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก มีอาการระคายระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น ทำให้เกิดผื่นตามเท้า ซอกนิ้วเท้า อาจมีการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

การรักษา : รักษาเท้าให้สะอาด ล้างเท้าให้สะอาด พยายามเช็ดแผลให้แห้ง ไม่ควรสวมรองเท้าปิด หรือใส่ถุงเท้า เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ที่แห้งและสะอาด ใช้ครีม หรือขี้ผึ้งกันเชื้อรา หรือโรยแป้งที่เท้า
  โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน
7.โรคผื่นกุหลาบ
              โรคผื่นกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในวัย 10-35 ปี โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การได้รับวัคซีน ผื่นแพ้ยุงและแมลง และยาบางชนิด ส่วนใหญ่มักพบบ่อยในช่วงฤดูหนาว และฤดูฝน เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นวงกว้าง กลม รี สีชมพูหรือสีแดง หรือเป็นจุดรูปไข่ ระยะแรกจะพบผื่นใหญ่ขนาดประมาณ 2-6 เซนติเมตร ตรงกลางของผื่นมีขุยขนาดเล็ก โดยมักจะพบขึ้นตามบริเวณลำตัว หน้าอก หน้าท้อง และแผ่นหลัง บางครั้งอาจพบบริเวณคอ แขน หรือขาส่วนบนได้

การรักษา : โรคผื่นกุหลาบสามารถหายได้เอง โดยอาจทิ้งรอยช่วงสั้น ๆ มีการรักษาดังนี้ รักษาตามอาการเป็นหลัก ใช้ครีมชุ่มชื้นผิวที่เหมาะสม ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์หรือยารับประทานในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamines) สามารถช่วยลดอาการคันได้ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มีผื่นจำนวนมาก อาจใช้การฉายแสง UVB สามารถช่วยควบคุมโรคได้ครับ

ติดตามสาระใน EP.ถัดไปได้ที่ช่องทางนี้ หรือ www.worldmedsolution.com

บทความ :   โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน

หน้าหลัก
กลับสู่หน้าหลักบทความ
Facebook Comments